สำหรับบริษัท
พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กำหนดให้สถานประกอบการที่มีพนักงาน100คน ต้องจ้างงานคนพิการ 1 คน อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์จริง ช่องว่างที่เกิดขึ้นคือ แม้มีความพยายามของบริษัทในการหาคนพิการเข้ามาทำงาน แต่กลับไม่สามารถหาได้ ขณะเดียวกัน คนพิการจำนวนมากต้องการเข้าถึงโอกาสงานแต่กลับไม่สามารถเข้าสู่โอกาสได้ โจทย์ท้าทายสำคัญ นอกจากบริบทในด้านการศึกษาแล้ว การย้ายออกถิ่นฐาน ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ
ด้วยโจทย์ที่ท้าทาย มูลนิธินวัตกรรมได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบที่เป็นนวัตกรรมเพื่อลดช่องว่างและตอบโจทย์ที่ท้าทาย ผ่านงานใน 3รูปแบบ ภายใต้ความสอดคล้องต่อบริบทของการสนับสนุนจากบริษัทเพื่อไปถึงคนพิการ และการทำงานของคนพิการที่จะตอบสนองเนื้องานที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัท
ทำความรู้จักกับรูปแบบงาน “การจ้างงานเชิงสังคมและสนับสนุนการประกอบอาชีพคนพิการ”
เป็นรูปแบบในการส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนพิการเพื่อทำงานเชิงสังคม และการสนับสนุนอาชีพคนพิการ ด้วยการดำเนินงานที่มุ่งเน้นการเชื่อมประสานสถานประกอบการเพื่อให้เกิดการสนับสนุนการจ้างงานและการมีอาชีพของคนพิการ (ตามมาตรา 33 และมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ) กระตุ้นให้คนพิการเกิดความสนใจและตื่นตัวในการทำงานและประกอบอาชีพเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีความภาคภูมิใจในตัวเอง มีเกียรติศักดิ์ศรีทัดเทียมกับผู้อื่น และเป็นที่ยอมรับของชุมชน สังคม ซึ่งส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ชุมชน และสังคมด้วย
ลักษณะงาน/รูปแบบงาน
งานลักษณะที่ 1
งานที่สนับสนุนหน่วยงานเป็นประจำ
เป็นลักษณะงานที่เน้นคนพิการที่มีความพร้อมเดินทางไปปฏิบัติงานในหน่วยงานเป็นประจำสม่ำเสมอ(หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร) ซึ่งหน่วยงานจะเป็นผู้มอบหมายงาน ติดตามผลการทำงานของคนพิการที่เข้ามาทำงานโดยงานที่คนพิการทำ ซึ่งเบื้องต้นหน่วยงานเป็นค้นหางานที่องค์กรยังมีความต้องการและเชื่อว่าคนพิการจะสามารถเข้ามาหนุนเสริมการทำงานในภาระงานที่ยังขาดอยู่นั้นได้ ประเภทของหน่วยงาน อาทิ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก และศูนย์ฟื้นฟู รวมถึงองค์กรสาธารณประโยชน์หรือองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร เช่น สมาคม มูลนิธิ ชมรมคนพิการต่างๆ เป็นต้น ลักษณะงาน อาทิ งานคัดกรองผู้ป่วย งานธุรการ งานประชาสัมพันธ์ เจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์ ครูช่วยสอน ช่างชุมชน นักการภารโรง และงานแม่บ้าน เป็นต้น
งานลักษณะที่ 2
งานบริการสังคมที่ต้องลงพื้นที่
(คนพิการต้องกำกับดูแลงานของตนเอง)
เป็นงานบริการสังคมที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และเป็นกิจกรรมช่วยเหลือสังคม ไม่มีผู้กำกับดูแลชัดเจน การดำเนินงานเป็นไปตามแผนปฏิบัติการที่วางไว้ โดยลักษณะงานเป็นงานบริการ ทำงานเพื่อสังคม อาทิ การเยี่ยม ให้กำลังใจ คนพิการและผู้สูงอายุที่นอนติดเตียง การประสานการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่คนพิการและผู้สูงอายุพึงมี การบริการจัดหาเครื่องช่วยกายอุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพและความสามารถในการดำรงชีวิตได้อย่างอิสระ หรือการรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัยบนท้องถนน เป็นต้น
ลักษณะงาน อาทิ งานรณรงค์ลดอุบัติเหตุ, งานประสานสิทธิ์บรรเทาทุกข์, งานpeer-counselling เป็นต้น
งานลักษณะที่ 3
งานส่งเสริมอาชีพ (ประกอบอาชีพอิสระ)
เป็นการสนับสนุนอาชีพให้กับคนพิการ และผู้ดูแลคนพิการ ที่มีความสนใจและทำอาชีพอิสระอยู่แล้ว ให้สามารถดำเนินกิจกรรมนั้นได้อย่างต่อเนื่อง การสนับสนุน เน้นเป็นเงินทุนตั้งต้นในการประกอบอาชีพ ที่ไม่ได้จ่ายเป็นค่าแรง ซึ่งอาชีพที่ทำมีหลายลักษณะ อาทิ
งานด้านการเกษตร อาทิ เลี้ยงสัตว์ ปลูกผัก ปลูกชา เพาะเห็ด เป็นต้น งานด้านการค้าและการบริการ อาทิ เปิดร้านขายของชำ ร้านตัดผม เป็นต้น งานด้านการผลิต อาทิ การผลิตเปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เครื่องยกผู้ป่วย ศูนย์บริการผลิตและซ่อมกายอุปกรณ์ ผลิตเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น รูปแบบการดำเนินงาน คนพิการ หรือผู้ดูแลคนพิการ สามารถดำเนินการได้ทั้งที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มและแบบเดี่ยวได้
หากบริษัทสนใจเข้าร่วมต้องทำอย่างไร