เด็กออทิสติก กับงานบริการชั้นเลิศ
September 16, 2017
มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้ความเข้าใจแก่สถานประกอบการจังหวัดสมุทรปราการ
September 17, 2017

“ผมจะทำให้ดีที่สุด เพราะมันเป็นงานของผม” อุบัติเหตุเพียงครั้งอาจจบความหวังของใครไปทั้งชีวิต แต่สำหรับ เมธาสินธุ์ ชัยลิ้นฟ้า 3 ครั้งกับประสบการณ์อุบัติเหตุบนท้องถนนซึ่งส่งผลให้เขาต้องพิการทางด้านการเคลื่อนไหวซ้ำแล้วซ้ำเล่า กลับทำให้เขาเลือกที่จะแสวงหาหนทางใหม่ๆ เพื่อสู้ต่อไปบนสนามประลองชัยแห่งชีวิตที่ไม่มีวันสิ้นสุด
20 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ก่อนการเดินทางไปสู้ศึกพาราลิมปิกเกมส์ 2016 ที่เมืองริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล ระหว่างวันที่ 7-18 กันยายน ในฐานะนักกีฬายิงธนูทีมชาติไทย เราได้มีโอกาสนัดหมายกับ เมธาสินธุ์ ณ การกีฬาแห่งประเทศไทย เพื่อพูดคุยถึงเส้นทางชีวิตหลังความพิการ การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอาชีพ และโอกาสจากการเป็นตัวแทนของคนไทยไปแข่งขันชิงชัยในเวทีระดับโลก

“ผมพิการครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2535 ตอนนั้นอายุ 18 ปี กำลังเรียนที่วิทยาลัยเกษตรน่าน ปวช. ปีสุดท้ายอีกประมาณ 3 เดือนจะจบ เป็นวัยรุ่นที่ค่อนข้างเกเรหน่อย กินเหล้าสังสรรกับเพื่อน แล้วขับมอเตอร์ไซค์จะออกไปซื้อเหล้า พยายามจะขับแซงรถพ่วงสิบล้อ พอถึงทางโค้งผมเร่งเครื่องแซง มีรถสวนเข้ามาเขาตบไฟสูงใส่ ผมก็หักหลบตัดหน้ารถสิบล้อลงข้างทาง รู้สึกตัวอีกทีก็อยู่โรงพยาบาล ขาหัก หมอนรองกระดูกมีปัญหา ทำกายภาพต่อมาเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ดีขึ้น ใช้เวลาฟื้นฟูทั้งร่างกายและจิตใจ 3 ปี ผมฆ่าตัวตาย 3 ครั้งหลังจากที่รู้ตัวเองว่าผมพิการถาวร อย่างแรกที่เป็นสาเหตุให้ฆ่าตัวตายคือเรายอมรับในสิ่งที่เราเป็นไม่ได้ แต่เดิมเราสามารถทำอะไรเองได้ทุกอย่าง อยู่ๆมาวันหนึ่งทำอะไรเองไม่ได้ เพื่อนฝูงที่เคยคบกันมาก็เปลี่ยนไป สังคมที่เราเคยอยู่ประจำมันเปลี่ยน เลยเป็นเหตุที่ทำให้น้อยเนื้อต่ำใจ สาเหตุที่ทำให้เราตัดสินใจลุกขึ้นสู้อีกครั้ง มีอยู่สองกรณี ตอนนั้นผมรู้สึกว่าผมเป็นภาระให้แก่ครอบครัว ผมพยายามที่จะเปลี่ยนความคิดตัวเอง พยายามที่จะออกสู่โลกภายนอก ออกไปอยู่ตามสถานฝึกอาชีพคนพิการ อีกอันหนึ่งที่จุดประกาย วันหนึ่งผมดูรายการทีวีทไวไลท์โชว์ ของคุณไตรภพ ลิมปพัทธ์ เขาเอาคนพิการที่อยู่ปากเกร็ด นนทบุรี มาออกรายการ คนพิการคนนั้นเขาพิการแต่กำเนิด เขาใช้ได้แต่หัวกับปาก ร่างกายส่วนอื่นเขาใช้ไม่ได้ แต่เขาใช้ปากวาดรูปในหลวงโชว์ในรายการแล้วเหมือนด้วย ผมก็เลยเปลี่ยนความคิดผมเลย เพราะผมยังมีอะไรที่มากกว่าน้องเขาและผมก็มีสมองที่มันไม่ได้พิการไปกับตัวผม พอผมประสบอุบัติเหตุครั้งที่ 2 ท้อแท้เมากครับพราะผมเป็นเสาหลักที่ดูแลครอบครัว ตอนนั้นลูกคนโตผู้ชายอายุ 17-18 ปี ลูกสาวคนเล็ก 7-8 ขวบ ห่วงเพราะว่าลูกผมยังเล็ก ภาระทั้งหมดต้องตกเป็นของเมีย แล้วตัวผมก็จะเป็นภาระของเมียไปอีกนานเลย เพราะ 1 ปีที่ผมต้องอยู่บ้านเฉยๆ ช่วงนั้นผมต้องใช้เงินเข้าออกโรงพยาบาลบ่อย ขาข้างที่ประสบอุบัติเหตุต้องมาตัดออกอีกครั้ง ทำให้ใช้ชีวิตลำบากจะนั่งจะเข้าห้องน้ำจะทำอะไร มันไม่เหมือนเดิม จนกระทั่งประมาณปลายปี 2558 ผมทำงานกับมูลนิธิเมาไม่ขับโดยได้รับเงินเดือนจาก ธนาคารไทยพาณิชย์ จากการประสานของมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม แล้วก็มีคนพิการอีก 4 คนในกลุ่มของผมที่ได้รับการสนับสนุนอาชีพอิสระจากมาตรา 35 ทั้งหมดเลี้ยงหมู 50 ตัว เลี้ยงแบบรวมกัน เพื่อง่ายต่อการควบคุมดูแล เพราะผมก็คอยดูแลเขาให้ใช้เงินให้ถูกต้อง ล่าสุดขายหมู ก็ต้องดูว่าคนมาซื้อราคาเท่าไหร่ กำไรเท่าไหร่ คุณต้องหักว่าทุนอะไรเท่าไหร่ ค่าหมู ค่าอาหาร ยารักษาโรค ค่าน้ำค่าไฟต้องหักไว้เป็นทุน ส่วนกำไรจะเอาไปใช้ก็แล้วแต่ ทุกคนต้องทำตามกฎที่ตั้งไว้เพื่อไม่ให้ใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ เสร็จแล้วเราก็จะคอยรายงานเข้ามาให้มูลนิธินวัตกรรมทางสังคมได้รับทราบ”
การยิ่งธนูก็เป็นอีกบทบาที่ผมภาคภูมิใจ เช้ามาทำภารกิจของตัวเองเสร็จเรียบร้อย ประมาณ 9 โมงลงมาซ้อมถึงเที่ยง แล้วก็บ่ายสองโมงกลับมาซ้อมอีกรอบถึงเย็น ส่วนวันจันทร์ พุธ ศุกร์ จะต้องเข้าโปรแกรมเวทเทรนนิ่ง อย่างซ้อมช่วงเช้าจะเป็นการเช็คฟอร์มตัวเอง บ่ายจะเริ่มเน้นเรื่องความแม่นยำ ให้มันเข้าเหลืองทั้งหมด ซ้อมอย่างนี้ทุกวัน เพราะกีฬายิงธนูเป็นการสร้างให้ร่างกายของเราจำท่วงท่าจนเกิดความเคยชิน ถ้าเราทำท่าไม่เหมือนเดิม มันก็จะไม่เข้าที่เดิม แต่ถ้ามันเหมือนเดิมทุกวันทุกครั้งมันก็จะเข้าที่เดิม แล้วมันก็เป็นการฝึกสมาธิด้วย ถ้าฟุ้งซ่านหรือมีอะไรเข้ามากวนใจเราจะยิงไม่ได้ ส่วนใหญ่แล้วนักกีฬาเมื่อเข้าไปอยู่ในเส้นมันจะต้องจัดการตัวเอง เสียงที่มันอยู่ข้างนอกเส้นอย่าให้มันเป็นปัญหา ถ้าเขาคุยกันอยู่ข้างนอกแล้วเราได้ยินขณะที่กำลังเล็งอยู่ก็จบข่าว นักกีฬาทุกคนหวังที่จะได้เหรียญทั้งนั้น ผมว่าผมจะทำให้ดีที่สุด เพราะมันเป็นงานของผม มันคืองาน คือหน้าที่ ผมต้องทำให้ดี”

ใครบางคนอาจวัดผลสำเร็จของการแข่งขันด้วยรางวัลที่สัมผัสได้ในปลายทาง แต่สำหรับใครบางคนจุดเริ่มต้นของการตัดสินใจก็เพียงพอแล้วที่จะเป็นคำตอบของชัยชนะ การสั่งสมความรู้ ฝึกฝนเพื่อรอวันค้นพบโอกาส และการไม่ยอมปล่อยให้ทุกโอกาสดีๆ ที่ผ่านเข้ามาหลุดลอยไปคือตัวอย่างการใช้ชีวิตของ เมธาสินธุ์ ชัยลิ้นฟ้า ชายผู้ประกาศว่าทุกบทบาทที่เขาทำ “มันคืองาน คือหน้าที่ ผมต้องทำให้ดี” แค่นี้ก็เพียงพอสำหรับเหรียญรางวัลในสนามประลองแห่งชีวิต